title-our-cultural
HOME OUR CULTURAL FEED Journey through Chinese history via a cup of tea

Journey through Chinese history via a cup of tea

Posted On June 27,2016



 การเดินทางสู่ประวัติศาสตร์จีนผ่านถ้วยชา



ใต้ต้นไม้กับถ้วยชาและลมโชยพร้อมความเย็นสบายๆ ของอากาศตอนเช้าวันหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องสนทนากับผู้สนใจชาและอยู่ในวงการเฟอร์นิเจอร์จีนท่านหนึ่ง เขาได้เคยพาความคิดเรากลับไปสู่อดีตสู่ประวัติศาสตร์ผ่านถ้วยชา ว่า “จิบหนึ่งที่เราดื่มนั้น มีเรื่องราวมากมายผ่าน “ใบชา” ในถ้วยแก้วเรานี้”

 

​มนุษย์รู้จักชาครั้งแรกสุดมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีคาดว่าชาเริ่มแรกสุดถูกพบในป่าแถบมณฑลยูนนาน ประเทศจีนในปัจจุบัน

พอเข้าสู่ราชวงค์ชางซึ่งเป็นราชวงค์แรกของจีนเมื่อประมาณ 1700 ปีก่อนพุทธศักราช ชานั้นถูกนำมาใช้เพื่อเป็นส่วนผสมของยา จนมาถึงกลางราชวงค์โจว เมื่อศาสนาพุทธ หลักขงจื้อ และลัทธิเต๋าเริ่มแทรกซึมเข้าไปในสังคมชาวจีน นักบวชและพระทั้งหลายใช้ชาเป็นเครื่องมือในการสะท้อนจิตใจ และชายังเป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อให้ตื่นขณะนั่งสมาธิหรือบำเพ็ญเพียร

ชาถูกเริ่มเข้าสู่ในวังและเป็นเครื่องดื่มของจักรพรรดิเมื่อเข้าสู่จิ๋นซีฮ่องเต้ แห่งราชวงค์จิ๋นผู้รวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่น เมื่อประเทศถูกรวบรวมแล้ว ผู้คนจากทั่วสารทิศ มากหน้าหลายตา มีความรู้มากมายนำมาแลกเปลี่ยนกันรวมไปถึงความรู้ด้านอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตามชายังถูกจำกัดอยู่ในวังเท่านั้น


ราชวงค์ฮั่นนั้นเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนชองชาเพราะมีการรวมเอาแผ่นดินฝั่งตะวันตกของจีนซึ่งก็คือยูนนานและเสฉวนเข้ามารวมกับอาณาจักรจีน การค้าขายของชาจึงง่ายขึ้น ชาจึงไม่ได้อยู่แค่เพื่อจักรพรรดิเท่านั้นอีกแล้ว ช่วงที่ชารุ่งโรจน์ที่สุดและมีอิทธิพลถึงวันนี้ก็ต้องอยู่ในสมัยราชวงค์ถัง เพราะเป็นยุคเฟื่องฟู ผู้คนหากเหินจากสงคราม ศิลปะและวัฒนธรรมจึงรุ่งโรจน์ตามไปด้วย ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่บ่งบอกสถานะทางสังคม วิธีการเตรียมชาก็ถูกตกแต่งให้ดูมีศิลปะและความน่าสนใจมากขึ้น Lu Yu ลู่หยี่ –บิดาแห่งชาก็ถือกำเนิดอยู่ในช่วงนี้เหมือนกัน


เมื่อเข้าถึงราชวงค์หยวน
ซึ่งเป็นราชวงค์ที่ไม่ใช้จีนแท้เพราะจริงๆแล้วชาวมองโกลภายใต้กุบไลข่านเป็นผู้นำและผู้มีอิทธิพลส่วนใหญ่ได้นำวัฒนธรรมการดื่มนมม้ามาผสมกับการดื่มชา โดยเฉพาะชาดำ จึงกลายเป็นชาดำใส่นม สืบเนื่องมาถึงราชวงค์ชิง การดื่มชากลายเป็นการบ่งบอกเชื้อชาติ ชาถูกเรียกเป็น ๒ ชื่อ ชาฮั่น จะเป็นชาใส ชาวฮั่นก็คือคนจีนแท้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีชาวมองโกลและชาวแมนจูเข้ามาปะปน ส่วนชาแมนจูคือชาดำใส่นมที่ได้อิทธิพลมาจากราชวงค์ก่อนๆ ประกอบกับช่วงนี้เองที่ชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายกับจีน ถึงแม้ว่าชาวโปรตุเกสจะเป็นชาติแรกมีมาค้าขายกับจีน ชาวดัชต์ต่างหากเป็นคนนำเอาชาไปเผยแผ่ในยุโรป ชาดำใส่นมหรือชาแมนจูเป็นชาที่ถูกเลือกเอาไป ทำให้จะเห็นว่าชาวตะวันตกชอบทานชาใส่นมหรือ English Tea เพราะชาวดัชต์เข้ามาตอนที่ชาวแมนจูกำลังดูแลประเทศอยู่นั่นเอง


หลังจากนั้นชาก็ถูกค้าขายและกระจายไปทั่วโดยเฉพาะในยุโรป ชายังเป็นสินค้าที่ทำให้ชาวอังกฤษขาดดุลการค้ากับชาวจีนในสมัยนั้น หนึ่งในสาเหตุนี้ถูกนำมาพาไปถึงสงครามฝิ่น และสงครามที่ชาวตะวันตกทั้งหลายรุมรังแกประเทศจีน ทำให้เสียเกาะฮ่องกงจากสนธิสัญญานานกิง

 

มาถึงวันนี้ ชาที่อยู่แก้วของเรา ไม่ว่าจะเป็นชาแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งใน ๖ แบบที่ถูกแยกแยะตามสีในแบบราชวงค์หมิงคือสีขาว สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า (อู่หลง) สีแดง และสีดำ ) บรรพบุรุษของมันได้ท่องเที่ยวไปเกือบทั่วโลกและผ่านเรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ของโลกมาแล้ว ชาในวันนี้ถึงแม้ว่าว่าจะหาดื่มได้อย่างง่ายดาย ชาก็ยังคงเสน่ห์ของมันและเป็นที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมหรือเป็นส่วนหนึ่งในวงสนทนาของเราๆทุกคน

 

ข้อมูลมาจากเรื่องเล่าของ คุณ มาดี เลิศขจรสุข หนึ่งในผู้บริหารของคงคาเฟอร์นิเจอร์มุก อ้างอิงจากหนังสือ The story of tea โดย Mary Lou Heiss และ Robert J. Heiss และ The brief history of Tea โดย Roy Moxham และ The Way of Tea โดย Aaron Fisher

 

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1430919380